โยฮันเนส บรามส์ (อังกฤษ: Johannes Brahms 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2376 - 3 เมษายน พ.ศ. 2440 พ.ศ. 2440) เป็นคีตกวีและวาทยกรชาวเยอรมัน หลายคนยกย่องเขาในฐานะทายาททางดนตรีของเบโธเฟน ซิมโฟนีบทแรกของเขาได้รับการยกย่องจาก ฮันส์ ฟอน บือโลว์ ว่าเป็นซิมโฟนีบทที่ 10 ของเบโธเฟน
บิดาของบรามส์เป็นนักเล่นดับเบิลเบสเป็นครูดนตรีคนแรกของเขาอีกด้วย บรามส์ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถมากอันโดดเด่นเกินวัย สนใจเครื่องดนตรีทุกประเภท ครูดนตรีคนสำคัญของเขาได้แก่เอด๊วด มาร์กเซ็น ได้สอนเขาอย่างตั้งอกตั้งใจ ด้วยความหวังที่ว่าเขาจะกลายเป็นนักเปียโนเอกในอนาคต โดยได้สอนเทคนิคการเล่นของ บาค โมซาร์ท และเบโธเฟน ซึ่งกลายเป็นที่จดจำของบรามส์ไปตลอด โดยมิได้ทำลายพรสวรรค์ทางการสร้างสรรค์ของศิษย์
ความสามารถทางการเล่นเปียโนของเขา ทำให้เขาได้เป็นนักดนตรีอาชีพครั้งแรกที่ผับแห่งหนึ่งในนครฮัมบูร์ก ตั้งแต่มีอายุเพียงสิบสามปี
ในปีพ.ศ. 2396 (ค.ศ. 1853) บรามส์ออกตระเวนเปิดการแสดงกับเพื่อนนักไวโอลิน ชื่อเอด๊วด เรเมนยี ซึ่งทำให้เขามีโอกาสได้พบกับนักไวโอลินชื่อดังแห่งยุค โยเซ็ฟ โยอาคิม ผู้ซึ่งประทับใจฝีมือของบรามส์มาก และยังได้แนะนำให้เขาได้รู้จักกับ ฟรานซ์ ลิซท์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชูมันน์ กับภรรยา คลาร่า ชูมันน์ ซึ่งเขาได้สนิทสนมด้วยเป็นอย่างดี อิทธิพลของชูมันน์ที่มีต่องานของบรามส์นั้นใหญ่หลวงนัก
ระหว่างปี พ.ศ. 2400 (ค.ศ. 1857) ถึง พ.ศ. 2402 (ค.ศ. 1859) เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะนักร้องประสานเสียงประจำวังของเจ้าชายแห่งเด็ตโมลด์ ในช่วงเวลานี้เองที่เขาได้ประพันธ์เซเรเนดสำหรับวงดุริยางค์ขึ้นสองบท และคอนแชร์โต้สำหรับเปียโนชื้นแรก
ปีพ.ศ. 2405 (ค.ศ. 1862) เขาได้เดินทางกลับสู่นครเวียนนา ชื่อเสียงในฐานะนักดนตรีของเขาเพิ่มขึ้น และได้รับการยกย่องให้เป็น ทายาทดนตรีของเบโธเฟน เพลงสวดเรเควียมของเขาเป็นเครื่องพิสูจน์คำกล่าวนั้นได้เป็นอย่างดี
ในปีพ.ศ. 2413 (ค.ศ. 1870) เขาได้พบกับวาทยกรฮันส์ ฟอน บือโลว์ ผู้ซึ่งมีอุปการคุณต่องานดนตรีของบรามส์เป็นอย่างมากในภายหลัง
ในปีพ.ศ. 2419 (ค.ศ. 1876) บรามส์แต่งซิมโฟนีบทแรกสำเร็จ ได้รับการขนานนามว่าเป็นซิมโฟนีบทที่ 10 ของเบโธเฟน ตามคำกล่าวของบือโลว์ จากนั้นก็มีงานประพันธ์สำหรับวงดุริยางค์ตามมาจำนวนมาก ซิมโฟนีอีกสามบท คอนแชร์โต้สำหรับไวโอลิน คอนแชร์โต้หมายเลขสองสำหรับเปียโน จนกระทั่งถึงผลงานเอกในช่วงบั้นปลายชีวิต นั่นก็คือบทเพลงสำหรับคลาริเน็ท
งานของบรามส์ได้รับอิทธิพลหลากหลาย โดดเด่นด้วยศาสตร์แห่งเคานเตอร์พ้อยท์ และ โพลีโฟนี ความงดงามของบทเพลงที่เขาประพันธ์อยู่ที่รูปแบบคลาสสิกที่ถูกแต่งแต้มด้วยความถวิลหาของยุคโรแมนติก แต่ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สีสันทางดนตรีอันบรรเจิด ท่วงทำนองที่สร้างสรรค์ และจังหวะทำให้ประหลาดใจด้วยการสอดประสานกัน
เป็นผลงานส่วนตัวของบรามส์ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ ซึ่งเราอาจนึกว่าจะเข้าใจยากเมื่อแรกได้ยิน แต่เราก็จะเข้าถึงได้และขาดไม่ได้ในที่สุด
นับเป็นหนึ่งในคีตกวีคนสำคัญของประวัติศาสตร์ดนตรีตะวันตก ศพของโยฮันเนส บรามส์ถูกฝังไว้ที่สุสานกลางแห่งนครเวียนนา นักดนตรีคนสำคัญผู้ล่วงลับ